ตอนที่ 3 หลุมพรางที่ 1(อย่าพึ่งตัดสินใดๆ ก่อนอ่านจบซีรีย์)
เรียนทุกท่าน
แม้ว่าจะมีเนื้อหาในหลายๆส่วน ในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของกฎแห่งแรงดึงดูดที่ผมยังรู้สึกคลางแคลงใจอยู่ เช่น การได้ที่จอดรถนั้น ได้มีการลองเก็บสถิติไหมว่า คนคนเดิมหากใช้กฎแห่งแรงดึงดูดกับไม่ใช้ จะมีโอกาสได้ที่จอดรถแตกต่างกันหรือไม่ รวมถึงเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ต่างๆที่อธิบายในหนังสือ ว่าเป็นเพียงเรื่องบังเอิญที่ได้รับผลลัพธ์จึงยกมาเป็นตัวอย่าง หรือมีคนจำนวนมากที่ได้ลองใช้วิธีนี้ต่างก็ได้รับประสบการณ์ที่อัศจรรย์ทุกคน
อย่างไรก็ตาม การที่ผมเองก็ไม่ได้ทำการวิจัยโดยเก็บสถิติอย่างจริงจัง ก็แปลว่าผมเองก็ไม่มีข้อมูลที่จะไปโต้แย้งเรื่องเหล่านี้ ผมจึงเก็บข้อสงสัยนี้เอาไว้คนเดียว(แต่เขียนออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ความคิด)
ในขณะที่หนังสือเกี่ยวกับเรื่องของกฎแห่งแรงดึงดูดมีเนื้อหาที่ช่วยทำให้เราเข้าใจพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น เชื่อมั่นพุทธศาสนาได้มากขึ้น และเชื่อมั่นได้ว่าน่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้องเพราะข้อมูลตรงกันทั้งสองแหล่ง
แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อหาบางส่วนในหนังสือเกี่ยวกับกฎแห่งแรงดึงดูดกลับเป็นเนื้อหาที่เราจะต้องใช้ปัญญาเข้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ว่าควรจะเชื่อมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากดูแล้วไม่สอดคล้องกับหลักในพระไตรปิฎกมากนัก
สำหรับหลายคนที่เชื่อมั่นในพระไตรปิฎกอย่างมากเหมือนผม ก็คงตัดสินใจได้ไม่ยากว่าจะเชื่ออะไร แต่สำหรับคนที่ยังไม่เชื่อมั่นในพระไตรปิฎกมากนัก ก็ต้องลองใช้ปัญญาเข้าพิจารณาว่า หลักการไหนที่สมเหตุสมผลมากกว่ากัน น่าเชื่อถือมากกว่ากัน
จักรวาลเป็นผู้มอบให้จริงหรือ
ในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของกฎแห่งแรงดึงดูดบอกว่าจักรวาลนำพาสิ่งดีๆมาให้เรา จักรวาลวางแผนอะไรต่อมิอะไรให้เรา จักรวาลช่วยสนับสนุนทุกอย่างที่เราทำ จักรวาลมอบทุกอย่างที่เราต้องการ จงขอ จงขอต่อจักรวาล บอกจักรวาลให้รู้ว่าคุณต้องการอะไร
ความคิดแรกที่เข้ามาในหัวผมทันทีตอนที่เห็นเนื้อหาดังกล่าวก็คือ แล้วมันต่างอะไรกับการที่คนไทยไปบนบานตามศาล หรือการบูชาเทพเพื่อขอสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเรื่องการบนบานขอจากเทพนั้น สอดคล้องกับลัทธิเทวะนิยมหรือเทพเป็นผู้สร้างผู้ให้ ซึ่งเป็นลัทธิที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามเอาไว้ว่าอย่าไปเชื่อ(พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 ข้อ 501)
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า เราไม่สามารถได้สิ่งที่ต้องการจากการบนบานหรือขอพร(พระไตรปิฎกเล่มที่22 ข้อ 43) เพราะหากการบนบาน(หรือการขอจากจักรวาล)ทำให้เราสมหวังจริงๆ ในโลกนี้คงจะไม่มีคนผิดหวัง คนขอหวยด้วยความเชื่อมั่นว่าตนจะถูกหวย ก็คงจะเป็นเศรษฐีกันไปหมดแล้ว(คนบ้าหวยต่างก็ซื้อด้วยความเชื่อมั่นว่าจะถูกแน่ๆ แต่สุดท้ายก็ถูก…กิน)
และการที่กฎแห่งแรงดึงดูดอธิบายว่า คนที่ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการก็เนื่องจาก เชื่อมั่นไม่มากพอหรือมีความโลภจึงไม่ได้นั้นผมไม่เชื่อ เพราะความเป็นจริงแล้ว คนที่ได้รับกับคนที่ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ ต่างก็มีความเชื่อมั่นและมีความโลภที่ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะได้รับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่
ผมอยากให้ลองนึกตามว่า สมมุติ ผมตั้งลัทธิขึ้นมาโดยใช้ชื่อลัทธิว่า “เชื่อแล้วจะได้” ลัทธินี้ไม่มีอะไรยุ่งยาก ขอเพียงคุณนับถือ เชื่อมั่นและศรัทธาในตัวผม ผมจะช่วยคุณ ไม่ว่าคุณจะต้องการอะไร คุณก็จะได้ตามที่คุณต้องการเสมอ
ถามว่าลัทธินี้จะมีวันล้มไหม คำตอบก็คือ ยากที่จะล้ม เพราะหากใครต้องการอะไรแล้วได้ในสิ่งที่ต้องการ ผมก็จะบอกว่าเป็นเพราะคนนั้นเชื่อมั่นและศรัทธาผมมากพอ ผมก็เลยช่วยให้คุณได้ในสิ่งนั้น แล้วคนที่ได้สิ่งที่ต้องการเพียง 1 คนก็จะนำพาคนอื่นให้มานับถืออีกมากมาย
ส่วนใครไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ผมก็แค่บอกว่า เห็นไหมหล่ะนั่นเป็นเพราะคุณ นับถือ เชื่อมั่น และศรัทธาผมไม่มากพอ คุณเลยไม่ได้ … ลองค่อยๆคิดตามนะครับว่าเรื่องสมมุตินี้สะท้อนอะไรได้บ้าง
ส่วนในพุทธศาสนาบอกว่าตามกฎธรรมชาติ ชีวิตของเราไม่มีใครมอบอะไรให้เราทั้งสิ้น หากเราต้องการได้รับอะไร เราต้องลงมือทำด้วยตัวเอง “เท่านั้น” เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม(การกระทำของตัวเราเอง)
ใครจะเชื่อว่าจักรวาลหรือเทพ หรือพระเจ้าเป็นผู้มอบให้ ก็ต้องทำความเข้าใจว่าคำสั่งสอนแบบนี้ไม่มีในพุทธศาสนา แล้วความเชื่อนี้จะส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร ผมจะค่อยๆอธิบายให้ฟังครับ
จักรวาลแสนอุดมสมบูรณ์จริงหรือ
ในหนังสือเกี่ยวกับกฎแห่งแรงดึงดูดได้กล่าวว่า จักรวาลนี้แสนอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างมีมากเกินพอสำหรับทุกคน ไม่ว่าใครใช้กฎนี้ก็สามารถดึงดูดสิ่งที่ต้องการได้ทั้งนั้น
เราลองมองบนพื้นฐานของความเป็นจริงกันบ้าง แม้ว่าสิ่งต่างๆในโลกเราจะมีมากมายมหาศาล แต่ความจริงก็คือ ทรัพยากรในโลกทุกอย่างมีอยู่อย่างจำกัด สิ่งที่ต้องการได้ เช่น ผู้ชายดีๆ ผู้หญิงดีๆ คณะดีๆในมหาวิทยาลัยดีๆ งานดีๆ มีจำนวนจำกัด ในเมื่อเป็นของดีย่อมจะมีคนต้องการมากกว่าของที่มี จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
จักรวาลนี้น่าอยู่จริงหรือ
ในหนังสือเกี่ยวกับกฎแห่งแรงดึงดูดได้กล่าวว่า ใครก็ตามที่รู้จักกฎแห่งแรงดึงดูดจะต้องคิดว่า “จักรวาลนี้น่าอยู่” เพราะเราสามารถได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการด้วยกฎแห่งแรงดึงดูด
แต่ในมุมมองของพุทธศาสนานั้นกลับมองว่า ใครก็ตามที่รู้จักกฎแห่งกรรมและมองชีวิตตามความเป็นจริงแล้วก็จะต้องตอบว่า “จักรวาลนี้ไม่น่าอยู่เลย ”
เพราะเราทุกคนที่เกิดมาต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายต่างๆ ทั้งไข้หวัด 2009 โรคปวดท้อง โรคกระเพาะ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขข้อ โรคปวดหลัง โรคปวดหัว โรคเอดส์ โรคภูมิแพ้ โรคเกี่ยวกับฟัน โรคในปาก โรคในหู และอีกสารพัดโรค
ในตอนที่ยังไม่เป็นก็ทุกข์เพราะกลัวที่จะเป็น ในตอนที่เป็นก็ทุกข์เพราะความเจ็บปวดและทุกข์เพราะต้องใช้เงินในการรักษา แม้จะหายแล้วก็ยังต้องทุกข์ที่กลัวว่าอาจจะกลับมาเป็นอีก
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องหิว เมื่อหิวก็มีความทุกข์ หิวแล้วไม่มีเงินซื้ออาหารทานก็ทุกข์ เมื่อทานอาหารแล้วอาหารไม่ย่อยก็มีความทุกข์ เมื่ออิ่มก็มีความทุกข์เพราะอยากขับถ่ายออก และหากไม่ได้ขับถ่ายออกก็จะเป็นทุกข์
เมื่ออากาศร้อนเกินไปก็มีความทุกข์ เมื่ออากาศหนาวเกินไปก็มีความทุกข์ เมื่อฝนตกก็มีความทุกข์ เมื่ออยากได้แล้วไม่ได้ตามที่ต้องการก็มีความทุกข์ แม้ได้ในสิ่งที่ต้องการก็ยังมีความทุกข์เพราะต้องการในสิ่งใหม่
ในตอนที่ยังไม่มีความรักก็มีความทุกข์ ในตอนที่มีความรักแล้วก็มีความทุกข์ ในตอนที่รักจากไปก็มีความทุกข์
เมื่อยังไม่ตายก็มีความทุกข์เพราะกลัวแก่ กลัวผมหงอก กลัวผิวหนังเหี่ยว กลัวหน้าเหี่ยว กลัวหนังตาย้อย กลัวสมรรถภาพทางเพศเสื่อม กลัวจะไม่มีใครเลี้ยงตอนแก่ กลัวจะไม่เงินใช้ตอนแก่ พอใกล้จะตายก็มีความทุกข์เพราะกลัวจะไปไม่ดี
ชีวิตคนเราต้องดิ้นรนต่อสู้กับไม่กี่เรื่อง ดิ้นรนแสวงหาเพื่อที่วันหนึ่งก็จะเข้าสู่ความตาย แล้ววันหนึ่งก็ต้องกลับมาเกิดเพื่อที่จะดิ้นรนแสวงหาเช่นเดิมวนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น และหากโชคร้ายต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัชฉาน เปรต หรือลงนรก ก็จะยิ่งเจอความทุกข์ทรมานมากขึ้นไปอีก
เป็นจริงดั่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้(พระไตรปิฎกเล่มที่ 35 ข้อ 145)ต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลายก็คือการเกิดนี่เอง
เพราะการเกิดมาในจักวาลนี้เป็นต้นเหตุ เราจึงต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ต่างๆ จะเห็นว่าจริงๆแล้วจักรวาลนี้ไม่น่าอยู่เลย คนที่คิดได้แบบนี้จึงรู้สึกว่า หากไปสู่นิพพาน(ไม่ต้องมาเกิดอีก)ยิ่งดี ถามจริงๆเถอะครับ มองดูชีวิตของตนเองที่ผ่านมา คุณอยากกลับมาเกิดอีกหลายๆครั้งเหรอครับ ผมคนหนึ่งหล่ะที่ไม่อยาก
โปรดติดตามตอนต่อไป
ด้วยความนับถือ
ณัฐพบธรรม
ผู้เขียนหนังสือ "ถ้ารู้...(กู)...ทำไปนานแล้ว"
และผู้เขียนหนังสือ "ได้... ถ้าใจถึง"
ธรรมะ,สังฆทาน,สังฆทานที่ถูกต้อง,กฎแห่งกรรม,กฏแห่งกรรม,บุญ,บาป,บุญบาป,นรก,สวรรค์,ทำทาน,รักษาศีล,เจริญภาวนา,นั่งสมาธิ,เจริญสติ,ธรรมทาน,ณัฐพบธรรม
จากข้อความเรื่องกฏแห่งแรงดึงดูด ตอนที่สาม ดิฉันคิดว่าการที่ขอจากจักรวาลแล้วบอกว่าจะได้ทุกอย่างนั้นไม่น่าจะแค่ขอแล้วไม่ลงมือทำอะไรเลย การขอแลัวเชื่อมั่นว่าจะได้จริงๆจะทำให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา ซึ่งก็ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน การขอแล้วเชื่อน่าจะเป็นแค่กุศโลบายให้คนมีกำลังใจมากขึ้นกระมังคะ