เรียนทุกท่าน
พระพุทธเจ้าได้อธิบายเรื่องกฎแห่งกรรมเอาไว้มากมาย
หากเราจะสรุปด้วยประโยคสั้นๆที่ทำให้เข้าใจง่าย ก็จะได้ประโยคที่ว่า
"ใครทำอย่างไร ก็จะได้อย่างนั้น"
มีเรื่องหนึ่งในเกี่ยวกับรื่องของการทำบุญ ที่พระพุทธเจ้าได้อธิบายเรื่องของมหาเศรษฐีคนหนึ่ง
ที่ร่ำรวยมหาศาล แต่ตอนมีชีวิตอยู่กลับใช้จ่ายอย่างประหยัดมากๆ
เขาจะกิน ใช้ แต่ของที่ไม่ปราณีต(ของไม่ดี ของเก่า ของเสีย)
พูดง่ายๆว่า มีเงินมากมาย แต่ก็แทบไม่ได้ใช้เลย(จนตายก็เหลือเงินมากมาย)
พระพุทธเจ้าอธิบายว่า มหาเศรษฐีคนนี้ เคยทำทานกับพระปัจเจกพระพุทธเจ้า(พระพุทธเจ้าที่ไม่ประกาศศาสนา)
แต่ทำทานด้วยความไม่เคารพ
ด้วยผลกรรมนั้นเอง ทำให้ชาตินี้ แม้ว่าจะมีเงินมาก แต่จิตใจจะ"น้อม"ไปบริโภค แต่ของที่ไม่ปราณีต
กิน ใช้ แต่ของที่ไม่ปราณีต (ของไม่ดีเมื่อเทียบกับฐานะของตน)
เมื่อเราเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาไตรตรอง
แล้วลองนำมาพิจารณาสิ่งที่เราพบเห็น ก็ทำให้เราได้คำตอบของเรื่องแปลกหลายๆอย่างที่เราพบเห็น
มี ดร.คนหนึ่ง เป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการตลาดหุ้น มีเงินน่าจะเป็นพันล้าน ได้เงินปันผลปีละเป็นสิบล้าน
แต่แกขับรถญี่ปุ่นราคาถูก อยู่บ้านหลังเล็กๆของแม่ยาย หุ้นเป็นชื่อภรรยา เคยซื้อบ้านราคาแพงแต่ก็ไม่ได้ไปอยู่(พูดแค่นี้คนในวงการก็ต้องร้องอ๋อ)
มองดูก็เหมือนเป็นการใช้ชีวิตแบบพอเพียงและสมถะ แต่มองอีกมุมก็คือ แกคงทำบุญด้วยของไม่ปราณีต จึงไม่มีบุญได้ใช้ของปราณีต เพราะแค่เงินปันผลที่แกได้ แกใช้เงินเดือนละล้านบาทก็ยังไม่หมดเลย
แกอายุ 50 กว่าแล้ว อีกไม่กี่10ปีก็เสียชีวิต ดูยังไงเงินก็ใช้ไม่หมดและคงแทบไม่พร่องเลย สุดท้ายทุกอย่างก็ตกเป็นของลูกคนเดียว แกจึงเป็นคนที่ลำบากหาเงินมามากมาย แต่แทบไม่ได้ใช้เลย(แถมไม่รู้ว่าชาตินี้แกทำบุญมากแค่ไหน)
เมื่อคืน(11มค)ผมดูรายการ VIP ก็เห็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่มีเงินหลายล้านบาท
แต่กลับต้องกิน ใช้ แต่ของราคาถูก แม้จะซื้อของดี ก็ไม่กล้าใช้
แม้จะมีบ้านราคาหลายล้านก็ไม่อยู่ มาอยู่แฟลตดินแดงแทน
แต่เรื่องงาน ถ้าต้องเสียเป็นแสนเป็นล้านก็ไม่เคยเสียดาย
แกไม่เคยใช้ชีวิตหาความสุขเลย เอาแต่ทำงาน ทำงาน และใช้จ่ายน้อยมาก
ตอนนี้แกยังไม่มีครอบครัว หากตายไปของทั้งหมดก็จะตกเป็นของหลวง
นั่นคือ เหนื่อยมาตลอดชีวิต แต่แทบไม่ได้ใช้เลย
ดูแล้วก็สะท้อนให้เห็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ไม่มีบุญที่จะได้ใช้ของดี แม้ว่าจะมีเงินมากพอที่จะใช้ได้
(ลองหาดูรายการทีวีย้อนหลังได้)
ผมรู้จักญาติของเพื่อนคนหนึ่ง แม้แกจะมีเงินมากมาย(เข้าใจว่าสามารถซื้อบ้านใหม่และเบนซ์ป้ายแดงด้วยเงินสดได้โดยไม่สะเทือน)
แต่แกก็จะชอบใส่แต่เสื้อผ้าราคาไม่แพง(บอกว่าเสียดายตังค์) ใส่ทองและเครื่องประดับไม่ได้(ใส่แล้วขัดใจ)
ได้ของขวัญปีใหม่ที่เป็นของดีของที่ชอบ ก็จะเอาไปให้คนอื่น(แทนที่จะเก็บไว้กินเอง)
และหากเป็นเรื่องในครอบครัว เรื่องงานหรือเรื่องเพื่อนฝูง แกจะไม่เคยเสียดายเลย
ตัวอย่างเหล่านี้ ทำให้เราเข้าใจที่พระพุทธเจ้าใช้คำว่า "น้อม"ไปใช้สิ่งที่ไม่ปราณีต
คือมีเงินจะซื้อของที่ดีมาใช้ได้โดยไม่สะเทือนฐานะทางการเงินเลย
แต่ใจจะน้อมมมมมมม ไปใช้ของที่ไม่ปราณีต
เห็นของดีของปราณีต จะไม่กล้าใช้หรือไม่อยากใช้
(เราหรือคนรอบข้างเป็นแบบนี้บ้างไหมครับ)
ในอดีตผมเคยมองคนที่ใช้แต่ของราคาถูก สมถะ แม้จะมีฐานะร่ำรวย ว่าเป็นคนรู้จักใช้เงิน น่ายกย่องอย่างยิ่ง
แต่ในปัจจุบันที่ผมเข้าใจกฎแห่งกรรมมากขึ้น ผมก็มองคนกลุ่มนี้ในมุมมองที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย
นั่นคือเสียดายโอกาสแทนคนเหล่านี้ ที่น่าจะได้ใช้ของดีกว่าที่เป็นอยู่
หรือพูดง่ายๆว่า คนกลุ่มนี้ บุญมีแต่กรรมมาบัง
คนที่มีบุญในมุมมองของผม จึงเป็นคนที่สามารถใช้ชีวิตได้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าใช้ชีวิตแบบ สมชีวิตา(พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 ข้อ 144 , หนังสือถ้ารู้...(กู)...ทำไปนานแล้วหน้า 281)
หรือใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับหลักการพอเพียงที่ในหลวงได้ให้ไว้
นั่นคือ สามารถได้ใช้ชีวิตที่เหมาะสม(สมชีวิตา)กับฐานะของตนเอง มีเงินน้อยก็ใช้จ่ายพอเหมาะกับฐานะตนเอง มีเงินมากก็ใช้จ่าย กินใช้ ของที่เหมาะสมกับฐานะของตนเอง
ส่วนคนที่มีบุญมากที่สุดในมุมมองของผมก็คือ
คนที่สามารถใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมกับฐานะของตน และได้บุญได้มากสมฐานะของตนด้วย
เพราะเขาจะกลายเป็นคนที่มีความสุขทั้งในชาตินี้ และในชาติต่อๆไป
หากใครที่วันนี้ยังไม่ได้กินหรือใช้ของดีสมกับฐานะของตน หรือกลัวว่าชาติต่อๆไปจะกินหรือใช้ของที่ไม่ปราณีต
เวลาทำบุญก็ให้ทำบุญด้วยความเคารพนอบน้อมต่อพระ
ส่วนคนที่ใช้ชีวิตในทางตรงกันข้าม คือรายได้ต่ำรสนิยมสูง ก็ต้องเริ่มแก้ไขวันนี้ก่อนที่จะสายเกินไปนะครับ(การวิปัสสนาจะช่วยได้ครับ)
** อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการทำบุญให้ได้บุญมากได้ในหนังสือ "ทำดี 24 ชั่วโมง" **
ด้วยความนับถือ
ณัฐพบธรรม
ผู้เขียนหนังสือ "ถ้ารู้...(กู)...ทำไปนานแล้ว"
(เมื่ออ่านจบแล้วจะอุทานเหมือนชื่อหนังสือ)
ธรรมะ,สังฆทาน,สังฆทานที่ถูกต้อง,กฎแห่งกรรม,กฏแห่งกรรม,บุญ,บาป,บุญบาป,นรก,สวรรค์,ทำทาน,รักษาศีล,เจริญภาวนา,นั่งสมาธิ,เจริญสติ,ธรรมทาน,ณัฐพบธรรม
ความคิดเห็น